AHA (Alpha Hydroxy Acid)
AHA หรือแอลฟาไฮดรอกซีแอซิด (Alpha Hydroxy Acid)
ที่เรียกกันว่ากรดผลไม้ เป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติในอาหาร เช่น กรดเมลิกแอปเปิ้ล กรดซิตริกในมะนาว กรดทาริกในองุ่น กรดแลกติกในนมเปรี้ยว และกรดไกลโคลิกในอ้อย เป็นต้น ช่วยต่อต้านการแก่ของผิวหนัง จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งและศูนย์วิจัยในอมริกา เช่น มหาวิทยาลัยฮานีแมน มหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย เทมเปิล และยูซีแอลเอ พบว่า ให้ผลดังนี้
– มีประสิทธิภาพเมื่อใช้กับผิวหนัง และผิวที่แห้งอย่างรุนแรง
– ขจัดสิวอุดตัน และทำความสะอาดรูขุมขน
– เพิ่มความนุ่มและความตึงของผิวหนัง
– ขจัดปัญหาน้ำมันและสิวบนใบหน้า
– ป้องกันอันตรายต่อผิว เนื่องจากสารชะล้าง เป็นต้น
– ลดการเปลี่ยนสีผิว และจุดด่างดำ (age spots) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับไฮโดรควิโนน
– ป้องกันผิวหนังได้ดีเท่ากับการรักษาผิว
มีการใช้ AHA ในเครื่องสำอางมาหลายปี บ่อยครั้งใช้ในการปรับความเป็นกรดด่าง (pH) การค้นพบประสิทธิภาพของ AHA ต้องยกย่องให้ ดอกเตอร์ ยูจีน แวนสก๊อต แพทย์ทางผิวหนัง (ตจแพทย์) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคลีนิก ภาควิชาตจวิทยา มหาวิทยาลัยฮานีแมน รัฐฟิลเดลเฟีย มีการเริ่มใช้ AHA ครั้งแรกโดยการทดลองรักษาในคนไข้ที่มีอาการผิวแห้งและพบว่า AHA ยังมีประสิทธิภาพอย่างดีเยี่ยม ในการรักษาสิวและจุดด่างดำ กลไกการออกฤทธิ์ AHAที่ผิวนอกหรือลึกลงไปจะน้อยหรือมาก ขึ้นกับกลไกการออกฤทธิ์ของกรดแต่ละชนิด
ในปี 1990 เป็นทศวรรษของ AHA เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 มีผลิตภัณฑ์ AHA สำหรับใบหน้าของเอวอน 1 ตำรับเข้าสู่ตลาด ซึ่งมีส่วนผสมของกรดไกลโคลิก 4% สำหรับทำให้ผิวดูอ่อนวัย เครื่องสำอางดังกล่าวมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นส่วนผลักดันให้มีการแข่งขันกันอย่างร้อนแรงในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั้งหมดพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อผลิตภัณฑ์ AHA เข้ามาแข่งขันในตลาดโดยปี 1992 มีผลิตภัณฑ์ AHA ของบริษัทเครื่องสำอางมีชื่อเสียงต่าง ๆ เริ่มออกจำหน่าย มีการแข่งขันกันมาก ในปี 1993 พบว่าผลิตภัณฑ์ AHA เข้าสู่ตลาดอย่างน้อยที่สุด 50 ตำรับ ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาในปี 1993 และผลิตภัณฑ์ใหม่ในปี 1994 มีการใช้ AHA ในผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น ครีมสำหรับใช้ตอนกลางคืน ครีมให้ความชุมชื้นตอนกลางวัน ครีมทาตา ครีมบำรุงหน้าอกและคอ โลชั่น ครีมทามือและลำตัว ครีมรองพื้น เครื่องสำอางขัดผิว และเครื่องสำอางถนอมผิว เป็นต้น โดยมีการใช้ AHA 1 ชนิด เช่น กรดโคลิก หรือมีส่วนผสมของ AHA 2-3 ชนิด ในสูตรตำรับ ซึ่งเป็นกรดที่สกัดจากธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น แล้วแต่เทคนิคของบริษัทผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซึมผ่านลึกเกินกว่าหนังกำพร้ามีความเข้มข้นของ AHA ต่ำ ส่วนมากไม่เกินร้อยละ 5 บางตำรับอาจเข้มข้นร้อยละ 8 หรือ 10 ซึ่งใช้สำหรับทามือและลำตัว ส่วนการลอกผิวหนังในสถานเสริมความสวยโดยนักเสริมความงามที่ได้รับอนุญาต อาจใช้ผลิตภัณฑ์ AHA ความเข้มข้นสูงถึงร้อยละ 40 สำหรับแพทย์อาจใช้ผลิตภัณฑ์ AHA ความเข้มข้นร้อยละ 30 – 70 เพื่อลอกผิวหนังหรือลอกหูด
การออกฤทธิ์ AHA
คนที่มีอายุมากขึ้น ขั้นตอนในการลอกผิวหนังจะช้าลง การใช้ AHA ช่วยละลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งยึดติดอยู่ระหว่างเซลล์ที่ตายแล้วกับผิวหนังในชั้น stratum corneum ทำให้ชั้นบนสุดของผิวหนัง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตายแล้วลอกออกอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอทำให้รูขุมขนไม่อุดตันช่วยในการขับน้ำคัดหลั่งของต่อมเหงื่อ เซลล์ใหม่ที่ขึ้นทดแทนเซลล์เก่าทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์ นอกจากนี้ทำให้ผิวหนาขึ้นช่วยป้องกันและปกป้องผิวจากมลภาวะแวดล้อม และยังกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนอีกด้วย การเร่งหลุดออกของเซลล์ทำให้ลดริ้วรอยเล็ก ๆ และรอยย่นหลังจากการใช้หลาย ๆ ครั้ง จากการศึกษาของการผลิตภัณฑ์ AHA ประจำวันคือ ริ้วรอยเล็ก ๆ ลดลง ผิวเรียบมากขึ้น ผิวหนังสุขภาพดีและสะท้อนแสงอย่างสม่ำเสมอทำให้ผิวดูอ่อนกว่าวัย กรด AHA ให้ผลคล้าย เรติน-เอ อันเป็นสารที่นิยมใช้ในการรักษาสิว และบำรุงผิวในทศวรรษที่ 80 (1980) แต่มีผลข้างเคียงเป็นอันตรายต่อผิวอย่างมาก เนื่องจากเรติน-เอ ทำให้ผิวหน้าส่วนบนบางลง ริ้วรอยบนใบหน้าดูจางลง สิวหลุดลอก หากใช้ไปนาน ๆ ผิวหน้าจะไวต่อแสงแดด และรู้สึกระคายเคืองมากเมื่อเทียบกับ AHA
ไกลโคลิก ซึ่งเป็นสารเด่นของ AHA มีขนาดโมเลกุลเล็ก เมื่อผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจึงออกฤทธิ์ได้ผลดีที่สุดเพราะว่าสามารถซึมเข้าผิวหนังได้โดยง่ายเป็นที่น่าสังเกตว่ากรดไกลโคลิก ได้ผลดีกับผิวหนังที่แห้งมาก นอกจากนี้กรดไกลโคลิก ยังทำหน้าที่สารฟอกจางสีผิวที่มีประสิทธิภาพดีกว่าไฮโดรควิโนน
ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ AHA
เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ควรใช้ผลิตภัณฑ์ AHA ความเข้มข้นต่ำเป็นประจำทุกวันพร้อมกับทำ AHA Treatment ในคลีนิก ซึ่งความถี่/ห่างในการทำแล้วแต่การวินิจฉัยของแพทย์ ผลข้างเคียงของ AHA เท่าที่ทราบกันอย่างแพร่หลายคือ การระคายเคืองทำให้ผิวหนังแดงจากการทำ AHA Treatment ซึ่งส่วนมากจะหายไปเอง 20 นาทีหลังจากการล้างออก
ข้อควรระวังเมื่อใช้ AHA
1.หลีกเลี่ยงอย่าให้ผลิตภัณฑ์ AHA เข้าตาหรือสัมผัสเนื้อเยื่ออ่อน
2. อย่าใช้กับผิวหนังที่เพิ่มโกนใหม่ ๆ หรือผิวเกรียมแดด
3. อย่าใช้กับผิวที่ปรากฏการระคายเคือง หรือมีแผลเปิด
สำหรับผู้ที่ผิวไวมาก ทางที่ดีที่สุดควรทดสอบก่อน โดยทาผลิตภัณฑ์ AHA เล็กน้อยลงบนท้องแขน และปิดผ้าพันแผล หากมีอาการแพ้ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ AHA
การควบคุมการใช้ AHA
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) โดยดอกเตอร์จอห์น ไปเล่ย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเครื่องสำอางและสีได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ AHA มาประมาณ 2 ปีที่แล้ว และเริ่มศึกษาเพื่อดูว่า AHA ออกฤทธิ์เป็นเครื่องสำอางหรือเข้าข่ายยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นสูง สำหรับ AHA ทำให้ผิวระคายเคือง แต่ยังไม่รุนแรงพอที่จะพิจารณาดำเนินการ ในการพิจารณาควบคุมการใช้ AHA ยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านประสิทธิภาพระยะยาวการแพ้ การไวของผิวหนัง และการดูดซึมเข้าสู่ผิวทั้งระยะสั้น/ระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลระยะยาว ขณะเดียวกันผู้ผลิตพยายามรักษาให้สูตรตำรับมี AHA ความเข้มข้นต่ำ (ร้อยละ 3-5) เพื่อรักษาประโยชน์ของตลาดเป็นสำคัญ สำหรับประเทศไทยมีการควบคุมการใช้ในเครื่องสำอางไม่เกิน 10%
ที่มาของ เอเอชเอ
กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) | สกัดจากน้ำอ้อย |
กรดแลคติค (Lactic Acid) | สกัดจากนมเปรี้ยว หรือ น้ำมะเขือเทศ |
กรดมาลิก (Malic Acid) | สกัดจากแอปเปิ้ล |
กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) | สกัดจากองุ่น เหล้าไวน์ หรือ มะขาม |
กรดซิทริก (Citric Acid) | สกัดจากมะนาว และสัปปะรด |
* ที่นิยมและใช้กันมากที่สุดคือ กรดไกลโคลิกและกรดแลคติก |