วิตามินซี

วิตามินซี

วิตามินซี ถูกค้นพบมาหลายสิบปีแล้ว เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ดี ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องรับประทานเข้าไปเท่านั้น สมัยก่อนใช้เพียงรักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟัน
ต่อมามีการศึกษาโดย ดร.ไลนัส พอลลิง ว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 1 กรัมยังสามารถป้องกันไข้หวัดได้ถึง 45% หากรับประทานวันละ 4-10 กรัม จะช่วยย่นระยะเวลาการเป็นหวัด
ได้ถึง 60%

นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพ ยังพบว่าวิตามินซีช่วยให้ผิวดูสดใสขึ้นได้อีกด้วยจึงมีการผสมวิตามินซีในเครื่องสำอางหลายชนิด ไม่ว่าจะในครีมกันแดด โฟมล้างหน้า บ้างก็อยู่ในรูปเซรั่ม หรือครีมบำรุงผิว ให้ดูมีคุณค่า แต่จะได้ประโยชน์กับผิวพรรณอย่างไรมากน้อยแค่ไหน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทาวิตามินซีด้วย แค่รับประทานไม่พอหรือคำตอบก็คือ การรับประทานถึงแม้ว่าร่างกายจะได้รับวิตามินซีก็จริง แต่ผ่านเข้าผิวได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรับได้เต็ม 100% วิตามินซีชนิดทาที่ใช้กันมีความเข้มข้นตั้งแต่ 5-20% พบว่าในสภาพกรดอ่อนๆ pH 2-3.5 ที่ความเข้มข้น 20% เซลล์ผิวได้รับวิตามินซีสูงสุดคือ 20 เท่า ของเซลล์ปกติซึ่งไม่สามารถได้จากการรับประทาน

วิตามินซีซึ่งออกฤทธิ์กับผิวโดยตรงต้องอยู่ในรูปของกรด แอล-แอสคอร์บิก (L-Ascorbic Acid) หากผิวได้รับอย่างเพียงพอ จะทำให้ผิวขาวและใสขึ้นได้ ทั้งยังช่วยยับยั้งการทำลายอีลาสติน (Anti-Elastase) และคอลลาเจน (Anti-Collagenase) ในชั้นหนังแท้และยังกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกัน ริ้วรอยจึงจางลง ผิวยืดหยุ่นขึ้น สุดท้ายยังช่วยให้วิตามินอี บริเวณผิวถูกทำลายช้าลง มีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกจึงช่วยเร่งการหายของแผลได้อีกทางหนึ่ง

ในท้องตลาดมีจำหน่ายหลายรูปแบบ ทั้งชนิดครีม เซรั่ม หรือเป็นผงเขย่าขวดก่อนใช้ ชนิดผงมักเป็นผงของกรดแอล-แอสคอร์บิก ก่อนใช้ต้องเขย่าใช้กับตัวทำละลายที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ หลังทาผิวจะได้รับวิตามินซีเต็มที่ แต่อาจแสบและระคายผิวได้บ้างแต่ก็ดีกว่าชนิดครีมหรือเซรั่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอนุพันธ์ของวิตามินซี ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้โดยตรงต้องเปลี่ยนเป็นกรดแอล-แอสคอร์บิกบริเวณผิวอีกต่อหนึ่ง ทั้งยังดูดซึมเข้าสู่ผิวได้น้อย พบบ่อย เช่น Magnesium Ascorbyl-2-Phosphate ,Ascorbyl Glucosamine ,Ascorbic Acid-2-Glucoside และอีกหลายชนิด

ข้อดีของครีมหรือเซรั่มผสมวิตามินซีคือมีความคงตัว เก็บได้นานกว่าชนิดผง เพราะชนิดผงหลังผสมควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือนเนื่องจากวิตามินซีจะค่อยเสื่อมสภาพไป สังเกตได้จากการเปลี่ยนสีจากใสแล้วค่อยๆกลายเป็นสีน้ำตาลในที่สุด

สรุปว่าหากต้องการได้รับวิตามินซีอย่างเต็มที่ น่าเลือกใช้ชนิดผงมากกว่าเซรั่มหรือครีมยกเว้นเสียแต่กรณีผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่าย การใช้ครีมจะละมุนละไมมากกว่าบางแบรนด์อาจผสมทั้งกรดแอล-แอสคอร์บิก กับอนุพันธ์ของวิตามินซีเข้าด้วยกัน ชนิดที่ว่าเมื่อชนิดที่หนึ่งเสื่อมไปอีกชนิดซึ่งมีความคงตัวมากกว่าก็สามารถออกฤทธิ์ต่อได้ทันที

วิตามินซีในครีมกันแดด
วิตามินซีซึ่งผสมอยู่ในครีมกันแดด จะช่วยเสริมฤทธิ์สารกันแดดให้การปกป้องผิวจากรังสียูวีในแสงแดดได้ดีขึ้น เนื่องจากวิตามินซีมีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวีที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 300 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงความยาวคลื่นของรังสียูวีบี (280-320 นาโนเมตร) ทำให้ปกป้องจากรังสียูวีบี ซึ่งก่อให้เกิดอาการไหม้ แสบ แดง บริเวณผิวและยังป้องกันการเปลี่ยนแปลงระดับดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังจากรังสียูวีได้อีกด้วย ดังนั้นการเลือกครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินซีจึงเสมือนการได้กำไรสองต่อ

วิตามินซี ชนิดรับประทาน
การรับประทานวิตามินซี นอกจากช่วยเรื่องสุขภาพ เช่นป้องกันไข้หวัด เสริมสร้างภูมิต้านทาน เร่งการเผาผลาญไขมันและคอเลสเตอรอลไม่ให้เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดแล้ว สำหรับผิวก็มีคุณประโยชน์หลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น เร่งการสร้างคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ ผลงานวิจัยยังพบว่า วิตามินซี มีคุณสมบัติปกป้องแสงแดด จากภายในเรียกว่า เป็น Systemic Sunscreen เมื่อรับประทานในขนาด 1 กรัม จะทำให้ผิวทนแดดได้ดีขึ้น เสมือนกับการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำๆประมาณ 4 และหากรับประทานขนาด 2 กรัมจะเหมือนการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ใกล้เคียง 15 เลยทีเดียว

อีกอย่างที่น่าสนใจ คือ การชะลอวัย ที่คุ้นหูกันดีว่าวิตามินซีมีคุณสมบัติเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ ร่างายของคนเรามีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เซลล์ต่างๆ รวมทั้งเซลล์ผิวเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ แต่หากมีตัวต้านอนุมูลอิสระก็จะคอยกำจัด ทำให้เซลล์ต่างๆเสื่อมสภาพช้าลง

สารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระมีหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินอี โคเอนไซม์Q10 ไลโคปีน (Lycopene) จากมะเขือเทศ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น กรดอัลฟา-ไลโปอิก (Alpha-Lipoic Acid) ซึ่งสารเหล่านี้อาจปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระได้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ (ภายในเซลล์) หรือเฉพาะส่วนที่เป็นไขมัน (บริเวณเยื่อบุเซลล์) เช่น วิตามินซี สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ปกป้องส่วนที่เป็นน้ำ ขณะที่วิตามินอี ไลโคปีน ปกป้องส่วนที่เป็นไขมัน ส่วนกรดอัลฟา-ไลโปอิก ซึ่งจัดว่าเป้นสารกระชากวัยที่แรง มีคุณสมบัติปกป้องส่วนที่เป็นน้ำและไขมัน

ขนาดรับประทานวิตามินซี เพื่อชะลอวัยคือ 1-2 กรัมต่อวัน ซึ่งร่างกายไม่สามารถได้รับจากผักหรือผลไม้เพียงอย่างเดียวในแต่ละวัน เพราะต้องรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวกันเป็นกิโลๆ เลยทีเดียว การรับประทานวิตามินเสริมในรูปแบบเม็ดน่าจะสะดวกกว่า

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart
error: Content is protected !!