ริ้วรอยแห่งวัย

ริ้วรอยแห่งวัย

รอยเหี่ยวย่น
รอยเหี่ยวย่น ที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังแต่ละคน จะมีลักษณะตื้นลึกและมีมากน้อยแตกต่างกัน รอยย่นมักเริ่มเกิดเมื่ออายุประมาณ 25 ปี โดยจะเริ่มเห็นที่ใบหน้าก่อน เช่น บริเวณรอบดวงตาที่เรียกว่ารอยตีนกา (Crow Feet) เกิดขึ้นที่บริเวณหางตา ปาก และ หน้าผาก และจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามอายุ เมื่ออายุย่างเข้ามากกกว่า 50 ปี ขึ้นไปก็จะเริ่มมีรอยย่นเกิดมากขึ้น เช่นที่คาง โคนจมูก ริ้วรอยที่ริมฝีปาก ร่องแก้ม โดยจะเกิดมากขึ้นและลึกขึ้น ผิวหน้าก็จะเริ่มหยาบกร้าน หย่อนยาน คืนตัวช้า เนื่องมาจากส่วนประกอบในชั้นต่างๆ ของผิวหนังเริ่มเปลี่ยนไป

ผิวหนัง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและสภาพสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผิวหนังเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่ต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้นเมื่อสิ่วแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจึงมีผลกระทบโดยตรงกับผิวหนังของคนเรา

ลักษณะของผิวหนังที่เกิดความแก่หรือความชรา (Aging) เชื่อกันว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพันธุกรรม (Genetic) เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆที่อยู่ภายในร่างกายที่ต้องการมีการเสื่อมสภาพลง (Intrinsic Factor) แต่อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ผิวหนัง อาทิเช่น แสงแดด สารเคมี ความร้อน ความชื้นของสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้กระบวนการของความแก่เกิดขึ้นเร็วและอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่ผิวหนังได้อีกด้วย

กระบวนการเกิดรอยย่น
ผิวหนังของคนเราเป็นอวัยวะที่มีเซลล์มากมายนับล้านๆ เซลล์ โดยจะเรียงตัวเป็นชั้นๆ คือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง โดยปกติเซลล์ผิวหนังของคนเราจะมีการหลุดลอกออกไป และมีการสร้างเวลล์ขึ้นใหม่ตลอดเวลา เซลล์ชั้นผิวที่หลุดลอกออกไปจะเป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิต ที่เราเรียกว่า ขี้ไคล นั่นเอง
เมื่ออายุมากขึ้น ทั้งจำนวนและหน้าที่ของเซลล์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปในลักษณะที่เสื่อมสภาพไป

1.ชั้นหนังกำพร้า
เป็นผิวหนังชั้นนอกสุด เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ผิวหนังในชั้นนี้จะบางลงแต่บริเวณที่ถูกแสงแดดจะหนาขึ้นกว่าเดิม เซลล์ผิวหนังจะหลุดลอกได้ง่ายขึ้นเช่น มีแผลถลอกง่ายขึ้นและแผลมักจะหายช้า มีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งที่ผิวหนังมากขึ้นเนื่องจากเซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนเกิดเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งได้
เซลล์สร้างสีผิวจะมีจำนวนลดลงและมีการจับกลุ่มผิดปกติ ทำให้ผิวหนังบางแห่งเป็นรอยด่างขาว แต่บางแห่งเข้มขึ้นหรือที่เรียกว่า “กระ” นั่นเอง

2.ชั้นหนังแท้
เป็นชั้นผิวหนังที่ลึกลงไปถัดจากชั้นหนังกำพร้าจะมีเนื้อเยื่อเป็นส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น คอลลาเจนไฟเบอร์ (Collagen Fiber) ,อีลาสติคไฟเบอร์ (Elastic Fiber) และสารที่เรียกว่า Gound Substance ซึ่งทำหน้าที่เสมือน ซีเมนต์ คอยเชื่อมองค์ประกอบทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน
เมื่ออายุมากขึ้น ชั้นหนังแท้จะบางลง ส่วนประกอบที่เป็นคอลลาเจนไฟเบอร์จะเปลี่ยนไป ทำให้ผิวหนังเปราะบางมากขึ้น ส่วนอีลาสติคไฟเบอร์ จะมีลักษณะโครงสร้างและคุณสมบัติไม่เหมือนเดิม ทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง จึงเกิดเป็นริ้วรอยย่นและหย่อนยานมากขึ้น

ในชั้นหนังแท้จะมีต่อมต่างๆ มากมายซึ่งต่อมต่างๆเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้นเช่นกัน ต่อมต่างๆที่อยู่ในชั้นนี้ได้แก่
1. ต่อมเหงื่อ
จะมีจำนวนและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในภาวะอากาศร้อนจะเกิดอาการ Heat Shock ได้ง่ายเนื่องจากเหงื่อออกน้อยลง การระบายความร้อนไม่ดี
2. ต่อมไขมัน
จะมีจำนวนเท่าเดิม แต่ขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันจะเปรียบเสมือนเป็นสารเคลือบและสารหล่อลื่นที่ผิวหนัง ถ้าลดลงก็จะทำให้ผิวแห้ง หลุดลอกได้ง่ายและเป็นขุย
3.ผม
อัตราการเจริญเติบโตของผมจะลดลง และรูขุมขนจะลดลงเซลล์สร้างสีผมที่อยู่บริเวณรูขุมขนจะหายไป ทำให้ผมเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีขาว ผมจะแข็งและหนาขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นขนอ่อน เช่น เหนือริมฝีปาก และคางในผู้หญิง และที่จมูกและคิ้วในผู้ชาย
4.เล็บ
เล็บจะเจริญช้ากว่าปกติและมีลักษณะบางลง เปราะและหักง่ายไม่เงางามเหมือนเดิม
นอกจากนี้จำนวนเส้นเลือดที่ผิวหนังก็จะลดน้อยลง ทำให้ผิวหนังเย็นซีดภูมิต้านทานของผิวหนังจะลดลง ทำให้เกิดการแพ้สารต่างๆ ที่มาสัมผัสมากขึ้นและนานขึ้น

3.ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
ชั้นนี้เปรียบเสมือนเบาะรองผิวหนัง เมื่ออายุมากขึ้นชั้นไขมันจะแตกต่างกัน คือ ส่วนบริเวณสะโพก และต้นขา จะมีไขมันหนาขึ้น แต่บริเวณใบหน้าจะเหี่ยวแห้ง ไม่นุ่มนวล ไม่มีน้ำมีนวลเหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว

ตารางการเปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆทางกายภาพและทางเคมีของผิวหนังระหว่างอายุ 20 ปีกับอายุ 70 ปี

คุณสมบัติของผิวหนัง อายุ 20 ปี (ซ.ม.) อายุ 70 ปี  (ซ.ม.) % ความแตกต่าง
• การยุบของผิวเมื่อมีความกดดัน (Identation) 0.043 0.054 26%
• %การคืนตัวหรือความยืดหยุ่น (Elastic Recovery) 80.5 65.5 19%
• ความหย่อนยาน (Levanometry) 0.037 0.068 84%
• ค่าความเป็นกรด-ด่างของผิว (pH) 5.52 5.61 7%

 

กระบวนการของความแก่ เกิดขึ้นกับทุกๆคนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หรือผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หรือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดเร็วขึ้นได้ ปัจจัยเสริมที่ทำให้กระบวนการของความแก่เกิดเร็วขึ้น ได้แก่ อาหาร น้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ ความชื้น อุณหภูมิภายนอก แสงแดด และพฤติกรรมของแต่ละคน

ปัจจัยเสริมของกระบวนการความแก่
1.อาหาร
การขาดไขมัน ทำให้ผิวบาง เป็นคนขี้หนาว เนื่องจากมีไขมันเป็นส่วนที่ห่อหุ้มร่างกายน้อยลง
การขาดวิตามินเอ ทำให้ผิวแห้ง แตก ลอกเป็นขุย เหี่ยวย่น มากขึ้น
น้ำ อากาศที่มีความชื้นน้อย น้ำในเซลล์ผิวหนังจะระเหยออกไป จึงทำให้ผิวแห้งแตกหรือลอกเป็นขุยได้ การทา
ครีมบำรุงผิวจะช่วยเคลือบผิว และช่วยป้องกันน้ำไม่ให้ระเหยออกออกไปจากผิวหนังได้

2.แสงแดด
เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดรอยย่น เนื่องจากผิวหนังเป็นสิ่งแรกที่ต้องสัมผัสกับแสงแดด คนที่ทำงานอยู่กลางแจ้งจะมีผิวที่ค่อนข้างหนาและหยาบกร้าน มีริ้วรอยเป็นร่องลึกและมีผิวคล้ำหรือรอยด่างดำเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนที่ทำงานในที่ร่ม นั่นเป็นเพราะผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการถูกแสงแดดนานหรือบ่อยๆ ทำให้เซลล์ผิวหนังต้องปรับตัวให้หนามากขึ้นเพื่อป้องกัน อันตรายจากรังสี อุลตราไวโอเลต นอกจากนี้แสงแดดยังให้พลังงานความร้อนทำให้ผิวไหม้เกรียมได้

3.สารเคมี
สารเคมีหลายๆชนิด มีผลเสียและเป็นพิษโดยตรงต่อผิวหนัง เช่น
สารปรอท ในเครื่องสำอาง
สารตะกั่ว ในน้ำมัน ท่อไอเสีย
สารคลอรีน ในสระว่ายน้ำ
ฝุ่นละออง เชื้อโรคในอากาศ

คนที่สัมผัสกับสารต่างๆ ดังกล่าวเป็นประจำหรือในปริมาณมากก็จะทำให้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเกิดริ้วรอยย่นได้มาก และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นแดง คัน ตุ่มน้ำใสร่วมด้วย

ผลรวมของกระบวนการความแก่ เหล่านี้จึงทำให้ผิวหนังเกิดมีริ้วรอยย่น เนื่องจากทั้ง Elastic และ Collagen fiber มีการเสื่อมสภาพลง รวมถึงเนื้อเยื่อไขมันที่คอยรองรับผิวหนังชั้นบน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ทำงานลดลง จึงทำให้ผิวหนังบาง หย่อนยาน แห้งกร้าน ภูมิต้านทานเชื้อโรค ก็มีประสิทธิภาพด้อยลงจึงทำให้ติดเชื้อ เกิดเป็นแผลได้ง่าย แต่หายยาก

ความแก่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ซับซ้อนต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นอายุขัย เนื่องมาจากความเสื่อมสภาพของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของผิวหนัง การศึกษาและค้นคว้ารายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็เพื่อจะหาสาเหตุและหาทางแก้ไขป้องกันหรือช่วยทำให้ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างๆช้า เพื่อให้ความแก่มาเยือนอย่างช้าๆหรือเป็นการ ชะลอความชรา อย่างหนึ่งนั่นเอง

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart
error: Content is protected !!