ฝ้าและกระ

ฝ้าและกระ

ฝ้า
ฝ้าเกิดจากความผิดปกติของการสร้างสีผิวของผิวหนังในบางแห่งและเป็นเฉพาะบางคนเท่านั้น แต่โดยมากแล้วฝ้ามักจะเกิดในคนที่มีผิวขาวมากกว่าคนผิวคล้ำหรือผิวดำ ฝ้าเกิดได้หลายๆที่บนใบหน้า เนื่องจากผิวหนังที่หน้าจะมีเซลล์สร้างสีผิวมากกว่าบริเวณอื่นๆ และโดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มและสันจมูกจะเป็นบริเวณที่มีฝ้าเกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูกแดดได้บ่อยที่สุด ฝ้าพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้เป็นฝ้าง่ายขึ้นและทำให้คนที่เป็นฝ้าเป็นมากขึ้นได้ด้วย

ทำไมสีผิวของคนเราจึงแตกต่างกัน

ผิวหนังจะมีสาระสำคัญที่ทำให้เกิดสีผิว คือ เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ซึ่งเม็ดสีนี้เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันผิวหนังจากการทำลายของแสงแดดไม่ให้ผิวหนังเกิดการแดงหรือไหม้เกรียมจากการถูกแดดเผา (Sunburn) เพราะเม็ดสีของเมลานินจะช่วยดูดซับแสงในช่วงแสงที่มองเห็น (Visible light : 400-700 nm.) และแสงอุลตร้าไวโอเลต เอและบี ไว้ได้ (Ultraviolet A:320-400 nm., Ultraviolet B:290-320 nm.)

สีผิวของคนเราเป็นผลรวมของสี 3 สี คือ

สีน้ำตาล             จากเมลานิน
สีแดง
                 จาก Deoxygenated hemoglobin
สีเหลือง              จาก Carotene


แต่อย่างไรก็ตาม สีผิวหนังทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสาร Melanin เป็นหลักซึ่งเกิดได้จาก 2 ลักษณะ คือ

1. สีผิวจากเชื้อชาติ
สีผิวแต่ละเชื้อชาติจะมีสีแตกต่างกัน พบว่าเซลล์สร้างเม็ดสีจะมีจำนวนเท่ากันในทุกเชื้อชาติ แต่การที่มีสีผิวแตกต่างกันก็เนื่องมาจากการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีและลักษณะของเม็ดสีเมลานิน จะต่างกัน คนผิวดำเซลล์สร้างเม็ดสีจะสร้างเม็ดสีมากกว่าและจะไม่เกาะกันเหมือนในคนผิวขาว

2. สีผิวจากอิทธิพลอื่นๆ
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆทั้งภายในและภายนอกร่างกายไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี ให้สร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น เช่น ฮอร์โมน แสงแดด เป็นต้น

สีผิวที่ผิวหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร

สีผิวหนังเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ซึ่งอยู่ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า (Basal cell layer) สร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) เมื่อสร้างแล้วเม็ดสีจะถูกส่งให้เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า เรียกว่า Keratinocyte ที่อยู่ส่วนบนสุดของผิวหนังต่อไป

ขบวนการสร้างสีผิวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดาและเกิดต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ในขบวนการสร้างเม็ดสีจะต้องอาศัยเอ็นไซม์ตัวหนึ่งที่สำคัญ คือ เอ็นไซม์ไทโรซิเนส  (Tyrosinase) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดสี เอ็นไซม์นี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ ที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เพื่อที่จะเปลี่ยน Tryosine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนในผิวหนัง ให้กลายเป็นเม็ดสีเมลานิน (Melanin) เมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างๆของร่างกายจะพบว่า จำนวนเซลล์สร้างเม็ดสีจะแตกต่างกัน คือ ที่ใบหน้าจะเป็นบริเวณที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีที่หนาแน่นที่สุด ส่วนที่ลำตัวและแขนจะมีเซลล์สร้างเม็ดสีน้อยที่สุด ตามลำดับ ในคนผิวดำหรือคนผิวขาวจะมีจำนวนเซลล์สร้างเม็ดสีไม่แตกต่างกัน แต่การทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีในคนผิวดำจะมากกว่า ขนาดของเซลล์จะโตกว่าและสัดส่วนของเม็ดสีภายในเซลล์จะมากกว่าคนผิวขาว

กระบวนการสร้างเม็ดสีจะมีขั้นตอนต่างๆมากมายจึงจะเกิดเม็ดสีขึ้น ดังนั้นหากมีความผิดปกติของขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติของสีผิวด้วย เช่น ถ้ามีปัจจัยใดก็ตามที่กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส มากขึ้น ก็ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น ทำให้สีผิวเข้มขึ้น แต่หากถูกกระตุ้นมากขึ้นจนเสียสมดุลย์ของการสร้างเมลานิน ก็จะทำให้เกิดมีการผลิตเมลานินมากเกินไปจนเกิดเป็นฝ้า กระ หรือ จุดด่างดำที่ผิวหนังขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน หากเซลล์สร้างเม็ดสีไม่สามารถสร้างเอ็นไซม์ไทโรซิเนส ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติของสีผิวแบบ Hypopigmentation เช่น โรคด่างขาว เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดฝ้า

1. แสงแดด
แสงแดดเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดทำให้เกิดฝ้า เมื่อผิวหนังถูกแสงแดด  รังสีอุลตร้าไวโอเลตจะกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนสมากขึ้น ทำให้มีการสร้างเม็ดสีผิดปกติจนเกิดเป็น ฝ้า กระ หรือ รอยด่างดำมากขึ้นได้

2. ฮอร์โมน
ฮอร์โมนบางอย่างทำให้เกิดฝ้าหรือทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่เข้มมากขึ้น โดยมากมักพบในคนตั้งครรภ์ หรือคนที่รับประทานยาคุมกำเนิด และอาจพบในคนที่เป็นธัยรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ผิวหนังทั่วร่างกายจะมีสีคล้ำมากขึ้น

3.ยารับประทาน
มียาหลายชนิดที่ทำให้เกิดฝ้าได้ เช่น ยากันชัก Diphenylhydantoin ,Mesantoin เป็นต้น

4.เครื่องสำอาง
บางคนเกิดการแพ้เครื่องสำอาง เช่นน้ำหอม สี สารกันเสีย ทำให้เกิดรอยด่างดำแบบฝ้าได้

5.การขาดอาหาร
การขาดสารอาหารบางอย่างทำให้มีสีผิวคล้ำขึ้นได้ เช่น กรด Folic ,วิตามินเอ ,วิตามินซี หรือวิตามินบี12 เป็นต้น

6.พันธุกรรม
คนในครอบครัวเดียวกันมีโอกาสเกิดฝ้าได้ถึง 30-50% และพบว่าฝ้ามักเกิดในคนเอเซีย ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของพันธุกรรมหรืออาจเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม ก็เป็นได้

ชนิดของฝ้า

1. ฝ้าที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้าหรือชนิดตื้น (Epidermal type)
2. ฝ้าทีอยู่ในชั้นหนังแท้หรือชนิดลึก (Dermal type)
3. ฝ้าแบบผสม (Compound type)

การแยกชนิดของฝ้าทำได้โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Wood’s lamp ส่องไปที่ใบหน้าหากเห็นฝ้าชัดขึ้นแสดงว่าเป็นฝ้าชนิดแรก คือชนิดตื้น แต่ถ้าเป็นชนิดลึกจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงบางคนอาจเป็นฝ้าทั้ง 2 ชนิด คนที่มีฝ้าชนิดตื้นจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าคนที่มีฝ้าอยู่ในชั้นหนังแท้ จึงมีโอกาสหายได้เร็วกว่าคนที่มีฝ้าชนิดลึก

หลักในการรักษาฝ้า

1.พยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้า
อาชีพ
อาชีพบางอย่างต้องตากแดดอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดฝ้าได้ ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เช่น สวมหมวก ปิดผ้า  หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นก็คงต้องเปลี่ยนอาชีพที่ทำงานอยู่แต่ในร่มแทน

ยาคุมกำเนิด
หากรับประทานยาคุมกำเนิดแล้วทำให้เกิดฝ้า ควรหยุดรับประทานแล้วเลือกการคุมกำเนิดแบบอื่นๆแทน

เครื่องสำอาง
ไม่ควรเปลี่ยนแปลงเครื่องสำอางบ่อยๆเพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย การใช้ควรทดลองบางบริเวณก่อน เช่น ใต้คาง ใต้ท้องแขน แต่หากใช้เครื่องสำอางชนิดไหนแล้วเกิดการแพ้ ควรจะอ่านรายละเอียดของสารประกอบในเครื่องสำอางนั้นว่ามีสารตัวใดอยู่บ้าง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการแพ้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสารตัวนั้นเมื่อจะซื้อเครื่องสำอางชนิดอื่นอีกต่อไป

2.รักษาฝ้าให้จางลง
การรักษาฝ้ามีหลายวิธี คือ การทายา การขัดผิว (Dermabrasion) การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Iontophoretic ซึ่งการรักษาฝ้าให้จางลงนั้นต้องใช้เวลานานหลายเดือน ฝ้าในบางคนอาจจะต้องใช้เวลานานเป็นปีจึงจะดีขึ้น ดังนั้นคนที่ต้องการรักษาฝ้าให้หายจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของการรักษาฝ้า พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยาฝ้ามาทาเองเพราะอาจทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ หรือบางชนิดจะมีส่วนของยาพวกเสตียรอยด์ทำให้ผิวหน้าบางลงจนเห็นเส้นเลือดฝอยได้

3.ป้องกันไม่ให้เป็นฝ้าหรือเป็นมากขึ้น
แสงแดดเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เป็นฝ้ามากขึ้น ควรทายากันแดดหรือผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน

ยาทารักษาฝ้า

ยารักษาฝ้ามีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ในการรักษาฝ้าแตกต่างกัน ในการรักษาแพทย์อาจจะใช้ยาร่วมกันหลายๆอย่าง เพื่อให้ฝ้าหายเร็วขึ้น ยาบางอย่างหากใช้ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอาจเกิดผลข้างคียงอื่นๆตามมา เช่น หน้าลอก หน้าแดง ผิวหนังบางลง หรือหน้าดำคล้ำมากกว่าเดิม ยาหลายๆตัวที่มีในท้องตลาดและไม่ควรนำมาใช้ในการรักษาฝ้า เช่น

ครีมไข่มุก
เป็นครีมที่ใช้ในการรักษาฝ้าในสมัยก่อน ทำให้ฝ้าจางลงหน้าขาวขึ้น ซึ่งสาระสำคัญในครีมนี้ ก็คือ สารปรอท (Ammoniated mercury) มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่ละลายน้ำ ไม่ละลายในแอลกฮอล์ สารนี้ทำให้ฝ้าจางลงได้เนื่องจากมีสารปรอทไปรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสี และยังสามารถทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีอย่างถาวรได้ หากใช้ครีมนี้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดด่างขาวบริเวณที่ทาได้ นอกจากนี้อาจจะทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่ดำคล้ำมากกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสารปรอทมีการสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นรอยดำขึ้น และที่อันตรายมากกว่านั้นก็คือ สารปรอทถูกดูดซึมข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงจะทำให้เกิดพิษต่อไตได้ ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายห้ามใช้สารปรอทผสมในครีมทาฝ้าแล้ว

ยาทาฝ้าที่ใช้ในปัจจุบัน
ไฮโครควิโนน (Hydroquinone)
ในการักษาฝ้าจะมีความเข้มข้นตั้งแต่ 2-5% ออกฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี โดยลดการสร้างเม็ดสีโดยไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี ยานี้มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าได้ดี แต่หากใช้ยานี้ในความเข้มข้นสูงๆ อาจทำให้มีอาการแดงได้ และอาจจะมีการทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีทำให้เกิดด่างขาวได้ การใช้ยานี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้มาก หากใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นแล้วเมื่อฝ้าจางลงและต้องการจะหยุดยา ก่อนจะเลิกใช้ต้องมีการปรับยาให้เหมาะสมเสียก่อนจึงจะเลิกใช้ยาได้ เพราะถ้าหยุดใช้ทันทีอาจทำให้หน้าคล้ำขึ้นได้

กรดวิตะมินเอ (Retinoic acid)
เช่น tretinoin ออกฤทธิ์โดยเร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเมลานิน หลุดลอกออก โดยใช้ความเข้มข้นตั้งแต่ 0.01-0.05% มักใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ เพราะหากทายาชนิดนี้เพียงอย่างเดียวจะให้ผลช้า ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีการระคายเคืองหรือทำให้หน้าแดงได้

ยาสเตียรอยด์
ครีมทาฝ้าบางชนิดจะมีสารพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงทำให้บริเวณที่ทายานี้ขาวขึ้นได้ ยาประเภทนี้มีความแรงหลายระดับและที่ความเข้มข้นต่างๆกัน การทายานี้นานๆหรือทายาประเภทที่ฤทธิ์แรง จะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากได้ เช่น เกิดสิว ผิวหนังบาง บริเวณที่ทาอาจมีขนยาวผิดปกติ หรือมีเส้นเลือดฝอยขยายบริเวณที่ทายาได้

ยาอื่นๆ
ปัจจุบันมีการคิดค้นยาทารักษาฝ้าหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงน้อยลง และถ้านำมาใช้ทาร่วมกันก็จะทำให้ฝ้าจางเร็วยิ่งขึ้น

20% Azelatic acid cream
ได้ผลในการรักษาฝ้าใกล้เคียงกับยาไฮโดรควิโนน แต่ใช้เวลานานหลายเดือน และอาจเกิดการระคายเคือง เช่น แสบหรือคันบริเวณที่ทา แต่หากใช้ต่อเนื่องอาการเหล่านี้ก็จะหายไป

AHA
เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นบน ที่ตายแล้วหลุดลอกออก จึงทำให้ฝ้าจางเร็วขึ้น มักใช้ร่วมกับยาฝ้าชนิดอื่นๆ เพราะช่วยให้ยาฝ้าชนิดอื่นๆ ออกฤทธิ์หรือซึมเข้สสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น

Kojic acid
ใช้เป็นยารักษาฝ้า มีทั้งที่เป็นครีมและชนิดที่เป็นสารละลายใส ความเข้มข้นประมาณ 1-2% ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง

Arbutin cream
ความเข้มข้นประมาณ 3-7% ได้มีการนำเอาสารประเภทนี้ผสมในเครื่องสำอางเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้น Whitening cosmetic products เช่นเครื่องสำอางของ Shiseido ซึ่งสรนี้คือ Hydroquinone derivative ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง

Licorice cream
ความเข้มข้น 0.1% สารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ Glabridin ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ไทโรซิเนสและเอ็นไซม์อื่นๆ Dopachrome tautomerase ทำให้การสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง

Vitamin C derivatives
คือสารที่มีชื่อว่า Ascorbyl magnesium phosphate หรือที่เรียกย่อว่า VC-PMG ความเข้มข้น 3% มีทั้งที่เป็นครีม โลชั่น และสารละลายใส ไดมีการนำเอาสารชนิดนี้ผสมในเครื่องสำอางเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้น เช่น เครื่องสำอาง Shiseido ,Kose ,Pola ,Avon ฯลฯ ออกฤทธิ์ในการสร้างเม็ดสีเมลานินและอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมการสร้างคอลลาเจน ทำให้ริ้วรอยย่นลดน้อยลงด้วย ปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องมือทีสามารถแยกประจุ +/- มาใช้ร่วมกับยา VC-PMG ในการรักษาฝ้าเรียกวิธีนี้ว่า Iontophoresis เนื่องจากผล VC-PMG สามารถแตกตัวเป็นอิออน บวกและลบ เครื่องมือนี้จะช่วยให้ยาเข้าสู่เซลล์ผผิวหนังได้โดยตรง และออกฤทธิ์ในการรักษาฝ้าให้จางลงเร็วขึ้น

การลอกหน้า (Peeling)
การลอกหน้าโดยการใช้สารเคมีต่างๆหรือกรดบางชนิด ทาที่หน้าหรือบริเวณที่เป็นฝ้า สารที่ใช้ในการลอกหน้า เช่น กรด ไตรคลอโรอะซิติค (Trichloracetic acid) ฟีนอล (Phenol) สารเหล่านี้จะทำให้ผิวหนังชั้นบน (Epidermis) และชั้นหนังแท้ส่วนบนสุด (Dermis) หลุดลอกออกไป ทำให้ผิวหนังที่เหลืออยู่มีสีขาวอมชมพู และรู้สึกใบหน้าเต่งตึงขึ้น ทำให้หลายคนที่ทำแล้วรู้สึกดีใจที่ฝ้า กระ หายไป แต่ที่แท้จริงแล้วการลอกหน้าแบบนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบค่อนข้างมาก และอาจเกิดเป็นรอยด่างดำขึ้นได้ในภายหลัง

กระ
กระเป็นรอยด่างดำ ที่ผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ มีขอบเขตชัดเจน ซึ่งต่างกับฝ้า ตรงที่ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้น และขนาดใหญ่กว่า กระ เกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีมากขึ้นผิดปกติเมื่อถูกแสงแดด มักเกิดในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ คนที่มีพ่อแม่ เป็น กระ จะมีโอกาสเป็น กระ มากกว่าคนทั่วไป หากตากแดดจะทำให้จำนวนกระเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้

กระเนื้อ
กระเนื้อแตกต่างจากกระธรรมดาตรงที่กระเนื้อจะมีลักษณะนูนอกมาจากผิวหนัง ถ้าคลำดูจะรู้สึกสะดุดเป็นเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่ทั้งที่ใบหน้า ลำคอ และลงมาถึงลำตัวในส่วนที่ไม่ถูกแดดก็ได้ กระเนื้อเกิดขึ้นได้เอง โดยพบว่าคนในครอบครัวเดียวกันมีโอกาสเกิดกระเนื้อได้มากกว่า เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็จะมีโอกาสได้มากขึ้นเช่นกัน

ความจริงแล้วกระเนื้อก็คือเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่งนั่นเอง มักเกิดกับคนอายุ 30-40 ปีขึ้นไป แต่บางทีก็อาจพบในคนที่อายุน้อยประมาณ 17-18 ปีก็ได้ กระเนื้อมักจะกระจายตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ใบหน้า แสงแดดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระเนื้อมีจำนวนมากขึ้นและใหญ่ขึ้นได้

การรักษากระเนื้อ

1.การจี้ด้วยธูป
ในสมัยก่อนการรักษากระเนื้อ หรือขี้แมลงวัน ชาวบ้านนิยมใช้ธูปจุดไฟ จี้บริเวณที่เป็น เพื่อเผาเนื้อส่วนนั้นให้หายไป วิธีการนี้อาจจะได้ผล แต่มีข้อเสียคือ ไฟจากธูปอาจทำให้ผิวหนังส่วนอื่นๆไหม้ไปด้วย และที่สำคัญผิวหนังบริเวณที่ถูกจี้จะเกิดเป็นแผลอักเสบขึ้นได้

2.การจี้ด้วยกรด
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือการใช้กรดบางชนิดที่สามรถกัดเนื้อบริเวณนั้นให้หลุดไปได้ โดยมากมักใช้กรดไตรคลอโรอะซิติค (Trichloroacetis acid) ซึ่งใช้ในการลอกผิวด้วย การจี้กระเนื้อด้วยน้ำยานั้นอาจต้องจี้หลายครั้งจึงจะหลุดออกมาได้ ขึ้นอยู่กับขนาดว่าใหญ่มากแค่ไหน กรดที่ใช้จี้จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณนั้นได้ หลังจากนั้นก็จะตกสะเก็ดดำๆ อยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงหลุดไป การจี้ด้วยน้ำยาเหมาะกับกระเนื้อขนาดเล็กๆ แต่ไม่เหมาะกับกระเนื้อขนาดใหญ่ การจี้ด้วยน้ำยาอาจเกิดเป็นแผลอักเสบ รอยดำ หรือเนื้อนูนหลังจากจี้ได้

3.การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษากระเนื้อ แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และเห็นรอยเย็บที่แผลได้

4.การจี้ด้วยเครื่องมือ
ในปัจจุบันมีการรักษากระเนื้อ ขี้มลงวันหรือไฝ ด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรือ การใช้แสงเลเซอร์ ข้อดีของการใช้แสงเลเซอร์ก็คือ สามารถทำให้หลุดไปภายในครั้งเดียว สะดวก รวดเร็ว และไม่เจ็บ เพราะปัจจุบันจะมีการใช้ยาทาที่ผิวหนังบริเวณที่จะทำโดยไม่ต้องฉีดยาชา และที่สำคัญสามารถรักษากระเนื้อที่มีขนาดใหญ่ได้ แผลที่เกิดขึ้นหลังใช้แสงเลเซอร์จะใกล้เคียงกับขนาดของกระเดิม แผลจะตื้นและหายเร็ว
 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart
error: Content is protected !!